23 พฤศจิกายน 2551

ปัญหาแอลกอฮอ

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มทุกประเภท นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังทำให้ความสนใจในการเรียนลดลง สมาธิลดลง การทำงานที่ต้องการฝีมือแย่ลง ทำให้อารมณ์หงุดหงิด นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าว
ตามสถิติพบว่า ผู้ที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเกิดปัญหาที่รุนแรงกว่าและแก้ไขยากกว่า และพวกที่ดื่มประจำ มักจะเป็นพวกสูบบุหรี่จนติด และมีโอกาสที่จะเสพยาเสพติดไม่ว่าจะเป็น กัญชา เฮโรอีน ยาม้า ยาอี มากกว่าคนทั่วไป

ปฏิกิริยาของแอลกอฮอล์ในร่างกาย
ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นทันทีที่ดื่มเหล้าแล้ว แอลกอฮอล์เข้าสู่ตับ เอนไซม์ในตัวคนเราจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารตัวใหม่ ชื่อ อะเซ็ตทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) แล้วเปลี่ยนต่อเป็นสารอะซิเทต (acetate) แล้วเคลื่อนตัวไปยังสมอง รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ อีกมากมายหลายส่วน
ผลจากการเคลื่อนตัวไปยังส่วนต่างๆ นี่เองทำให้ร่างกายสำแดงอาการเริ่มตั้งแต่อาการสมองโปร่งโล่งสบายในระยะแรก แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกคล้ายกับถูกบีบหนักๆ ร่างกายเริ่มผิดเพี้ยน เคลื่อนไหวโซซัดโซเซ ลิ้นก็ชักจะแข็งๆ พูดจาอ้อแอ้หูอื้อตาลายและแดงกล้ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์บางคนถึงขนาดความจำเสื่อมไปชั่วขณะ
ถ้าดื่มต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็จะตามมาติดๆ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดปฏิกิริยาผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน
ปฏิกิริยาต่อมาเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากปฏิกิริยาแรก ส่งผลให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกติเซลล์สมองจะมีกลไกป้องกันตัวเอง โดยการเปลี่ยนแปลงผนังเซลล์ให้หนามากพอ ที่จะไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลาย
ดังนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เดินทางมาสู่สมองเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลของอาการเมาค้างตามมาในที่สุด
ปฏิกิริยาสุดท้ายเป็นกระบวนการแห้งเหือดของน้ำหรือของเหลวภายในร่างกาย แอลกอฮอล์เป็นสารที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยของเหลวในร่างกาย โดยดูดซึมและขับถ่ายในรูปปัสสาวะและยังขับสารอาหารสำคัญๆ ออกมาอีกด้วย ในร่างกายจึงมีสารบางชนิดหลงเหลืออยู่ในปริมาณต่ำสุด เช่น แมกนีเซียม โปแตสเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินซี เป็นต้น
ปัญหาของแอลกอฮอล์
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตด้วยพิษแอลกอฮอล์ปีละ 150,000 คน เป็นสาเหตุการตายที่มากเป็นอันดับสาม รองจากบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด
ทุกปีเด็กทารก 12,000 คน ที่เกิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด จะมีปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านสติปัญญา
การดื่มสุราในวัยรุ่น
การดื่มสุราในวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ที่นำมาซึ่งความเสียอกเสียใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนตัววัยรุ่นเองก็ตาม
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ การสนุกสนานเกินขอบเขตจนเกิดการทะเลาะวิวาททั้งส่วนตัวหรือระหว่างกลุ่ม ซึ่งวัยรุ่นมีเลือดรักเพื่อนพ้องอย่างรุนแรง
ปัญหาการศึกษาเล่าเรียนเนื่องมาจากไปหมกหมุ่นอยู่กับการเที่ยวเตร่ การดื่มสุรา โดยเฉพาะเวลาดึกดื่นค่ำคืนไม่มีเวลาให้กับการทบทวนบทเรียน
ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจรที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราในวัยรุ่น ปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางรายรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต บางรายกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิตตั้งแต่อายุน้อยๆ บางรายใช้เวลารักษาเป็นปีๆ ต้องออกจากโรงเรียน หมดอนาคตที่คาดหวังว่าจะรุ่งเรือง เป็นภาระของพ่อแม่พี่น้อง ผู้ปกครองที่จะต้องดูแลช่วยเหลือ เป็นภาระของสังคมและของรัฐบาลที่จะต้องหาทางช่วยเหลือ ให้มีโอกาสทางสังคมดีขึ้น
ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งโดยปกติวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในระยะของการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีรายได้จากการทำงาน เว้นแต่เงินที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้ใช้จ่าย การดื่มสุราย่อมต้องใช้เงินมากขึ้น และจะเกิดปัญหาขึ้นได้กับครอบครัวที่ไม่มีรายได้มากนัก สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาของเรื่องอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย จนกระทั่งการปล้นจี้ก็เกิดขึ้นได้ เพื่อให้มีเงินเอาไปใช้จ่ายเที่ยวเตร่ ดื่มสุราฮาเฮเช่นที่เคยปฏิบัติมา
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการใช้สุรา
สุราเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คิดเป็น 3.84 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีปัญหาเรื่องสุรา พิจารณาจากฐานะทางสังคมของประเทศอ่อนแอลง เด็กและเยาวชนมีปัญหายาเสพติด เด็กยกพวกตีกัน สามีภรรยาทะเลาะทุบตีกันเพราะเหล้า ควรเน้นการสร้างสันติสุขในครอบครัว ซึ่งแนวทางโดยรวมคือการสร้างให้ทุกคนรักกันและกัน ถ้าคนเรารักกันความรุนแรงจะไม่เกิด ปัญหาสังคม พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศลดลง
ผลการวิจัยความรุนแรงในครอบครัว พบครอบครัวดื่มสุรามีความรุนแรงเกิดขึ้นเกือบ 4 เท่า ของครอบครัวที่ไม่ดื่ม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง สถิติหย่าร้างพุ่งกว่า 60,000 รายต่อปี
ข้อมูลจากองค์กรนิรโทษกรรมสากล พบว่ามีผู้หญิงทั่วโลกถูกกระทำรุนแรงปีละ 120 ล้านคน
ผู้หญิงไทยถูกทุบตีทำร้ายจากสามีหรือคู่รักร้อยละ 20-50 ในปี 2544 มีผู้หญิงขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิผู้หญิง 217 คน แยกเป็นความรุนแรงในชีวิตคู่ 103 ราย หรือร้อยละ 47 ช่วงเดียวกันมูลนิธิผู้หญิงรับแจ้งการใช้ความรุนแรงในชีวิตคู่รวม 228 กรณี ในจำนวนนี้ร้อยละ 72 เป็นการทำร้ายกันหรือทำร้ายตนเองจนถึงชีวิต
สถิติความรุนแรงในครอบครัวพบว่าร้อยละ 39 เป็นสามีฆ่าภรรยา ร้อยละ 14 ภรรยาฆ่าสามี ภรรยาฆ่าตัวตายร้อยละ 5 แม่ฆ่าลูกร้อยละ 6 พ่อฆ่าลูกร้อยละ 7
ข้อมูลจากการศึกษาปัจจัยก่อความรุนแรงในครอบครัวโดยเก็บข้อมูลใน 7 ชุมชนกึ่งแออัดในกรุงเทพฯ จำนวน 578 ครอบครัว พบว่า 159 ครอบครัว หรือร้อยละ 27.5 มีความรุนแรงในจำนวนนี้ 133 ครอบครัว ใช้เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ คณะทำงานจึงควบคุมปัจจัยแวดล้อมให้เหมือนกัน เก็บข้อมูลเปรียบเทียบ 100 ครอบครัว ที่ใช้เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และ 100 ครอบครัวที่ไม่ใช้เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ พบว่าครอบครัวที่มีความรุนแรงใช้สุราร้อยละ 83.6
สถานการณ์สุราในประเทศไทย
รายงานผลการวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ผลกระทบการที่รัฐเปิดเสรีตลาดการผลิตสุราทำให้โอกาสควบคุมผู้ผลิตสุราเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแหล่งผลิตมีอยู่กระจัดกระจายมากขึ้น และรัฐไม่สามารถควบคุมกำลังการผลิตได้ ทำได้เพียงการขึ้นภาษี ซึ่งไม่อาจควบคุมความต้องการบริโภคได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสุราเถื่อนที่ทดแทนกันได้
ทำให้นอกจากจะควบคุมปริมาณการผลิตไม่ได้ ยังควบคุมการบริโภคไม่ได้ด้วย
ปัญหาสุรานำเข้าจากประเทศแถบอาเซียน ที่ปัจจุบันอาศัยช่องทางภาษีจากข้อตกลงอาฟต้าในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 5 ทำให้สุราจากประเทศนอกเขต ตกลงใช้ช่องทางนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สุราต่างประเทศจึงมีราคาถูกลง
โดยตลาดสุราในประเทศขณะนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 72 คือเหล้าขาว ซึ่งผู้บริโภคคือประชาชนระดับรากหญ้าที่มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่
แก้ไขปัญหาตามหลักพุทธธรรม
วิถีชีวิตที่ดีเป็นแนวทางเพื่อถึงนิพพาน แต่วิถีชีวิตที่สวนทางนิพพาน จึงเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยปัญหาเป็นชีวิตที่ไม่ดี ความดับแห่งปัญหาจึงเป็นหลักการตัดสินความดีและความชั่ว โดยเฉพาะการงดเว้นจากเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการเสพสุราเมรัยและของเมา อันศีลข้อที่ 5 ซึ่งเป็นหนทางดำเนินสู่ความหมดทุกข์
องค์ประกอบภายนอกได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางสังคม หมายถึง การมีกัลยาณมิตร
องค์ประกอบภายใน กระบวนการคิดหรือวิธีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ หมายถึง โยนิโสมนสิการ การคิดเป็น การมีวิธีคิดเป็น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
แก้ไขปัญหาส่วนภายใน โดยแก้ที่กิเลส 3 กอง ความอยากมีและอยากเป็น ความโลภ แก้ที่ความผูกโกรธ ความพยาบาท ความอาฆาตเป็นความโกรธ และแก้ที่ความประมาทพลั้งพลาด ความไม่รู้จริง เป็นความหลง โดยมีฉันทะ ความพอใจชอบใจเป็นพื้นฐานมีอวิชชามูลเหตุแห่งปัญหาทั้งสิ้นแล้ว สร้างภูมิคุ้มกันจิตด้วยอุบายสงบใจ และอุบายเรืองปัญญา ฝึกอบรมภาวนาเป็นยารักษาจิตคุ้มครองใจ
แก้ที่สิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่แวดล้อมตัวเราอยู่ โดยที่เราเป็นศูนย์กลางมีกัลยาณมิตรเป็นเครื่องนำทาง และเป็นเครื่องชี้หนทางสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้
ความไม่ประมาท การไม่อยู่ปราศจากสติ บรรดากุศลธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นมูล เรียกว่า เป็นยอดของกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น ความไม่ประมาท จึงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีทางสังคมและเศรษฐกิจตามหลักพุทธธรรมที่ว่า ละชั่วทางกาย วาจาและใจ ตลอดถึงละความเห็นผิดแล้วปฏิบัติดีทางกาย วาจาและใจตลอดถึงทำความเห็นให้ถูก เพราะบรรดาคุณความดีทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีความไม่ประมาทเป็นมูล
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ผู้ทำ นางสาวสุวรรณี วารินกุด

1 ความคิดเห็น: